Digital Marketing คืออะไร? ไม่ใช่นักการตลาดก็เรียนรู้ได้ !

ในยุคนี้คำว่า Digital Marketing หรือ การตลาดดิจิทัล อาจจะคุ้นหูใครหลายๆ คนอยู่บ้าง ไม่มากก็น้อย เพราะ Digital Marketing คือ เครื่องมือ แบบแผน หรือวิธีการที่เหล่าผู้ประกอบการต้องใช้เพื่อให้ธุรกิจของตนเองอยู่รอดได้ในยุคปัจจุบัน ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนมาอยู่บนช่องทางออนไลน์กันเสียหมด

บทความนี้เราจะมาเผยความหมายที่แท้จริงว่า Digital Marketing คืออะไร แล้วเราจะสามารถใช้ประโยชน์ของการตลาดรูปแบบนี้ในการทำให้ธุรกิจของเราเติบโตขึ้นได้อย่างไรบ้าง จริงอยู่ว่าเรื่องเหล่านี้เราอาจเคยได้ยิน ได้ฟัง หรือได้อ่านจากสื่อต่าง ๆ มาบ้างแล้ว แต่ในบางมิติเราอาจจะมองข้ามไปก็ได้ เอาเป็นว่าเรามาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กันเลย!

3 ตัวอย่างหน้าโฆษณาการยิงแอดของ Primal

Digital Marketing คืออะไร

Digital Marketing คือ การทำการตลาดบนระบบดิจิทัลหรือบนช่องทางออนไลน์ หรือก็คือทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตซึ่งสามารถสื่อผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ ทีวี (หากรับชมผ่านอินเทอร์เน็ต) ก็ล้วนนับเป็นเครื่องมือของ Digital Marketing ด้วยกันทั้งสิ้น โดยเราสามารถทำผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เช่น  Facebook, Instagram, TikTok, Line, Twitter หรือผ่านระบบ Search Engine (Google, Bing, Yahoo) เป็นสื่อกลางในการส่งข้อความจากนักการตลาดดิจิทัลไปยังผู้บริโภคหรือกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

ทั้งนี้ คำว่า “การตลาด” แบบปกติที่เรารู้จักและเข้าถึง คือคำที่ถูกนิยามถึงวิธีการที่ทำให้ธุรกิจเป็นที่รู้จัก ไปจนถึงการสร้างผลกำไรหรือผลตอบแทนจากการลงทุน ดังนั้น คำว่าการตลาดจึงไม่ได้หมายถึงการโปรโมตสินค้าหรือแบรนด์เพียงอย่างเดียว แต่ครอบคลุมไปถึงกลยุทธ์การบริหารจัดการต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกองค์กรด้วย เราจึงมักจะได้ยินเหล่าผู้เชี่ยวชาญทางด้านการตลาดหลายท่านแนะนำให้ธุรกิจที่เกิดใหม่หรือคนที่กำลังคิดจะปั้นธุรกิจขึ้นมาให้ใส่ใจกับเรื่องการตลาดอย่างมากตั้งแต่เริ่มต้น นั่นเป็นเพราะการตลาดถือเป็นโครงสร้างสำคัญและเป็นตัวชี้วัดได้เลยว่าธุรกิจของเราจะรอดหรือจะร่วง

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในวงการธุรกิจมากขึ้น การทำการตลาดก็จำเป็นต้องเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ซึ่ง Digital Marketing เองก็เปลี่ยนช่องทางการโฆษณาไปยังแพลตฟอร์มต่าง ๆ โดยที่ยังคงต้องวิเคราะห์คู่แข่งออนไลน์และคำนึงถึง Customer Journey ที่ต่างออกไปด้วย ที่สำคัญ อุตสาหกรรมหรือธุรกิจต่าง ๆ ไม่ว่าจะขนาดใหญ่หรือ SME ต่างก็ต้องให้ความสนใจกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เพื่อให้ธุรกิจปรับตัวทัน รวมถึงสามารถสร้างยอดขายและเพิ่มกำไรได้อย่างครอบคลุม

Primal Linkedin Homeความแตกต่างของ Online Marketing และ Digital Marketing คืออะไร

อย่างที่ได้กล่าวไปว่า ปัจจุบัน เราได้ก้าวเข้าสู่ยุคแห่งเทคโนโลยี ที่ไม่ว่าอะไร ๆ ก็ปรับเปลี่ยนมาอยู่ในรูปแบบออนไลน์ เรียกได้ว่าความเป็นดิจิทัลนั้นแทรกซึมอยู่ในเกือบทุกส่วนของชีวิตประจำวันของเราเลยทีเดียว ซึ่งแน่นอนว่าการตลาดเองก็เป็นหนึ่งในนั้น เมื่อก่อนเรามักจะคุ้นชินกับโฆษณาตามบิลบอร์ด แผ่นพับ หรือโบรชัวร์ แต่ปัจจุบันนี้เรามีวิวัฒนาการที่เรียกว่าอินเทอร์เน็ตและเครื่องมือดิจิทัลต่าง ๆ ส่งผลให้โฆษณาส่วนใหญ่เริ่มขยายตัวเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์และดิจิทัลกันมากขึ้น จากป้ายโฆษณาข้างทางด่วนธรรมดา ๆ ก็กลายเป็นจอ LED และที่สำคัญ เมื่อมีโซเชียลมีเดียได้รับความนิยม การยิงโฆษณาให้ปรากฎขึ้นบนฟีดของผู้ใช้งานที่มีแนวโน้มจะเป็นกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์นั้นถือเป็นกลยุทธ์การตลาดที่นิยมมากที่สุด และเห็นผลไวที่สุดของยุคนี้เลยทีเดียว

ดังนั้น จาก Traditional Marketing แบบเดิม ๆ เราก็เริ่มได้ยินคำว่า Online Marketing และ Digital Marketing เข้ามาแทนที่ ซึ่งหลาย ๆ คนอาจเข้าใจว่าทั้งสองคำนี้คืออย่างเดียวกัน แต่ความจริงแล้ว ระหว่างคำว่า “Online” และ “Digital” นั้นมีเส้นบาง ๆ คั่นอยู่ โดย Online Marketing จะเป็นการทำการตลาดที่ใช้ “อินเทอร์เน็ต” เป็นสื่อกลาง เช่น เว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย อีเมล อีคอมเมิร์ซ ฯลฯ ส่วน Digital Marketing คือภาพรวมของการตลาดทุกรูปแบบที่ไม่ใช่การตลาดดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นการตลาดออนไลน์ หรือการตลาดที่ไม่ต้องใช้อินเทอร์เน็ต แต่มี “อุปกรณ์ดิจิทัล” เป็นสื่อกลาง เช่น ข้อความ SMS บนมือถือ โฆษณาบนโทรทัศน์ หรือจอ LED ฯลฯ จึงกล่าวสรุปได้ง่าย ๆ ว่า Online Marketing ก็เป็นส่วนหนึ่งของ Digital Marketing นั่นเอง

 

Digital Marketing คืออะไร

อย่างไรก็ดี ต่อให้จะคล้ายกันแค่ไหน แต่ก็เป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องแยกระหว่าง Online Marketing และ Digital Marketing ให้ออก เพราะการจะทำการตลาดเพื่อโปรโมตอะไรสักอย่างนั้น เราต้องมีจุดประสงค์ที่ชัดเจน รู้ว่าตัวเองจะขายอะไร กลุ่มคนที่ต้องการจะขายให้เป็นใคร โดยหากกลุ่มเป้าหมายของเราเป็นคนที่มักใช้สื่อสังคมออนไลน์ในชีวิตประจำวัน เราก็ควรใช้กลยุทธ์ Online Marketing เพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์บนช่องทางออนไลน์ แต่ถ้ากลุ่มเป้าหมายเป็นคนที่ชอบดูโทรทัศน์ หรือชอบเดินห้างสรรพสินค้า ก็อาจมุ่งเน้นไปที่กลยุทธ์ Digital Marketing ที่โฆษณาแบรนด์ผ่านระบบดิจิทัลต่าง ๆ แทน

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ – DIGITAL MARKETING กับ ONLINE MARKETING ต่างกันอย่างไร สองคำเรียกที่ทำใครหลายคนสับสน

เครื่องมือ Digital Marketing คืออะไรบ้าง?

จะเรียกว่าเป็นความท้าทายของนักการตลาดก็คงไม่ผิดนัก สำหรับเรื่องเครื่องมือในการทำการตลาดดิจิทัล เพราะหากเราเทียบกับการตลาดยุคก่อน (Offline Marketing) ก็จะมีพื้นที่หรือรูปแบบให้คนได้เสพสื่อกันอยู่ไม่กี่อย่าง เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ ป้ายบิลบอร์ด นิตยสาร หนังสือพิมพ์ ใบปลิว แผ่นพับ หรือสื่อหลักอย่างโทรทัศน์ แต่เมื่อโลกเปลี่ยนมาเข้าสู่ยุคของดิจิทัลแล้ว เรามีทั้งเว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย แอปพลิเคชัน Streaming ไปจนถึง Search Engine ต่าง ๆ อย่าง Google เป็นต้น แพลตฟอร์มเหล่านี้ล้วนถือเป็นเครื่องมือ Digital Marketing ทั้งสิ้น เพราะแต่ละช่องทางก็จะมีประสิทธิภาพในการกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกันตามประเภทของธุรกิจ อีกทั้งเรายังสามารถทำ SEO (Search Engine Optimisation) ให้เว็บไซต์ของเราติดอันดับต้น ๆ บนหน้าแรกของ Google เพื่อเพิ่มจำนวนคนเข้าเว็บไซต์ (Traffic) ให้มากขึ้นได้อีกด้วย

โดยบทความนี้ จะขอแบ่งประเภทของเครื่องมือ Digital Marketing ตามจุดประสงค์ของการใช้งานออกเป็น 6 ประเภท ได้แก่

  • Advertising & Promotion เครื่องมือสำหรับการทำโฆษณาหรือเพื่อการประชาสัมพันธ์
  • Social & Relationship เครื่องมือที่ช่วยให้แบรนด์ปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ส่วนใหญ่มักเป็นช่องทางในการสื่อสาร เช่น เว็บไซต์ อีเมล โซเชียลมีเดีย เป็นต้น
  • Content & Experience เครื่องมือในการสร้างคอนเทนต์ประสบการณ์ต่าง ๆ หรือสื่อ (Media) เช่น โปรแกรมทำเว็บไซต์และบล็อก โปรแกรมทำวิดีโอ โปรแกรมทำเกม CMS ฯลฯ เป็นต้น
  • Commerce & Sales เครื่องมือที่ช่วยในการขายของ เช่น แพลตฟอร์ม E-Commerce หรือระบบจัดการงานขายบนเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน
  • Data & Analytics เครื่องมือช่วยจัดการและวิเคราะห์ข้อมูล ถือเป็นเครื่องมือที่จำเป็นมาก ๆ ในการทำการตลาดดิจิทัล เนื่องจากการที่เรารู้ข้อมูล จะช่วยให้เราสามารถทำธุรกิจต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือ รู้ว่าควรปรับปรุงหรือพัฒนาส่วนไหนเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น ตัวอย่างเครื่องมือวัดผลข้อมูล เช่น Facebook Insight, Google Analytics เป็นต้น
  • Management เครื่องมือสำหรับการจัดการ ช่วยให้การทำงานเป็นระบบและคล่องตัวมากขึ้น รวมถึงลดการดำเนินงานซ้ำซ้อนที่ต้องใช้คนด้วย เช่น Project Management Tools เป็นต้น

วัตถุประสงค์ของ Digital Marketing คืออะไร?

แน่นอนว่าสิ่งที่เราต้องการจากการทำการตลาดไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหนก็ตาม คือผลสำเร็จในการทำธุรกิจ ซึ่งจะวัดเป็นกำไรหรือชี้วัดด้วยตัวแปรอย่างอื่นก็ได้ทั้งนั้น ยิ่งในทาง Digital Marketing ก็จะมีตัววัดผลลัพธ์ที่เราคุ้นเคยกันดี เช่น  ROI, ROAS หรือ Lead เป็นต้น ดังนั้น วัตถุประสงค์ของการทำการตลาดดิจิทัลจะผันแปรไปตามความต้องการของผู้ที่นำไปใช้ หากเราต้องการผลกำไรจากการทำธุรกิจ วัตถุประสงค์ Digital Marketing ของเราก็คือทำเพื่อให้ได้กำไร โดยอาจเลือกการทำการตลาดออนไลน์เป็น Conversion, Sales หรือ Lead 

ในขณะเดียวกันหากเราต้องการทำการตลาดดิจิทัลเพื่องานการกุศล วัตถุประสงค์ของเราก็คือการประชาสัมพันธ์แคมเปญ โดยอาจจะเลือกหากลุ่มบุคคลทำเพื่อ Brand Awareness ดังนั้น ในบทความนี้เราจึงจะขอแปลความหมายของวัตถุประสงค์ Digital Marketing ว่า “เป็นสิ่งที่ไม่มีกฎตายตัว ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะนำไปใช้เพื่ออะไร” ก็แล้วกัน

ประโยชน์ของ Digital Marketing คืออะไร?

ใช้งบได้อย่างคุ้มค่า รู้ว่าเงินไปลงตรงส่วนไหนบ้าง

การใช้งานบนแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อผู้คนส่วนมากจะเปิดให้บริการฟรี แต่ถ้าอยากเข้าถึงกลุ่มคนอย่างละเอียด เราสามารถซื้อพื้นที่โฆษณาออนไลน์เพื่อต่อยอดได้อีก ส่วนเรื่องงบก็ขึ้นอยู่กับเรา โดยสามารถทำแคมเปญโฆษณาออนไลน์ และวัดผลเพื่อการปรับงบ หรือโยกงบไปยังแคมเปญออนไลน์อื่น ๆ ที่อาจมีประสิทธิภาพมากกว่าได้ ซึ่งถ้าเทียบไปแล้วค่าใช้จ่ายอาจจะต่ำกว่าการลงบิลบอร์ดใหญ่ ๆ ที่ราคาแพงมาก และบางธุรกิจ เช่น ธุรกิจเล็ก ๆ อาจไม่มีกำลังซื้อ ดังนั้น การทำ Digital Marketing คือทางเลือกหนึ่งที่ไม่แพงนักสำหรับผู้เริ่มต้น หรือธุรกิจที่มีงบจำกัด

มีข้อมูลมากมายเพื่อตัดสินใจ วัดผลได้

บนโลกออนไลน์ การจะเห็นตัวอย่างของคู่แข่งที่ทำการตลาดดิจิทัลนั้นมีมากมาย และล้วนเป็นข้อมูลที่เราค้นหาได้ เพื่อเรียนรู้และนำมาสร้างกลยุทธ์ของตัวเองที่เหนือกว่า นอกจากนี้ ยังมีเครื่องมือวัดผลและโปรแกรมจากเว็บไซต์ต่างๆ มากมายที่ใช้วิเคราะห์ตลาด ตลอดจนแนวโน้มอุตสาหกรรมที่ให้เราวางแผนได้อย่างครอบคลุมที่สุด

เข้าใจกระบวนการที่ได้มาซึ่งผลลัพธ์อย่างแม่นยำ

เวลาทำแคมเปญต่าง ๆ ใน Digital Marketing นั้นมีหลายเครื่องมือมากที่สามารถเห็นพฤติกรรมของผู้คนที่เข้ามาหาธุรกิจเราบนออนไลน์ได้ตั้งแต่ต้นจนจบ (เข้ามารู้จักแบรนด์และจบที่ปิดการขาย) เช่น Google Analytics, Google Search Console หรือ Tracking ต่าง ๆ ที่เราพยายามเก็บข้อมูลของคนที่ใช้งานออนไลน์เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมรวมถึงปรับปรุงประสิทธิภาพแคมเปญของเราได้

สื่อสารได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย

ในแต่ละแพลตฟอร์มที่เราสื่อสารไปในรูปแบบโฆษณาต่าง ๆ ทั้งภาพหรือเสียง เราสามารถกำหนด เพศ อายุ ความสนใจ หรือพฤติกรรมของพวกเขาได้ ดังนั้น ธุรกิจสามารถเลือกเข้าหากลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกันได้

ง่ายต่อการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่และลูกค้าเก่า

เนื่องจากการทำ Digital Marketing มักทำผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ซึ่งในแต่ละแพลตฟอร์มมีผู้ใช้ออนไลน์อยู่ตลอดเวลา แต่จะมีจำนวนมากหรือน้อยนั้นขึ้นกับช่วงเวลาเช่นกัน ดังนั้น หากต้องการเฟ้นหากลุ่มลูกค้าใหม่ หรือคอยสื่อสารกับลูกค้าเก่า ก็สามารถทำได้ตลอด 24 ชั่วโมง และไม่ได้จำกัดแค่กลุ่มคนในที่ใดที่หนึ่ง แต่สามารถเลือกได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด

จึงอาจกล่าวได้ว่า ประโยชน์ของ Digital Marketing ก็อาจจะคล้ายกับหัวข้อวัตถุประสงค์ ว่าการทำการตลาดดิจิทัลจะได้ประโยชน์แค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับว่าคุณจะใช้ได้ตรงกลุ่มเป้าหมายหรือไม่ เข้าใจ Customer Journey และสามารถตอบสนองความต้องการพวกเขาได้ดีหรือเปล่า เพราะคงไม่มีองค์กร แบรนด์ หรือบริษัทใดที่ทำการตลาดดิจิทัลโดยไม่หวังผลตอบแทน เพราะท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Digital Marketing หรือการตลาดแบบดั้งเดิมก็ล้วนแล้วแต่ต้องมีงบประมาณในการลงทุน และคาดหวังกำไรทั้งสิ้น

ค่า Click through rate & impression บนหน้า Overview ของ Google Ads

ช่องทางการทำ Digital Marketing มีอะไรบ้าง

มาถึงส่วนที่หลาย ๆ คนน่าจะอยากรู้ ว่าแล้วถ้าหากเราอยากทำ Digital Marketing จะสามารถใช้ช่องทางไหนในการทำได้บ้าง ซึ่งความจริงแล้วการตลาดดิจิทัลนั้นมีหลากหลายรูปแบบมาก แต่บทความนี้ได้เลือกช่องทางที่เป็นที่นิยมมากที่สุดมาไว้ให้แล้ว บอกเลยว่าทุกคนสามารถเอาไปทำตามได้ทันที ไม่มีผิดหวังกับผลลัพธ์แน่นอน

PPC

PPC หรือ Pay-per-click เป็นหนึ่งในวิธีการทำการตลาดดิจิทัลบนช่องทางการค้นหา กล่าวง่าย ๆ ได้ว่าเป็นการที่เราจ่ายเงินซื้อพื้นที่ให้เว็บไซต์ของเราขึ้นไปอยู่บนอันดับต้น ๆ บนหน้าแรกของ Google นั่นเอง ส่งผลให้เมื่อผู้ใช้งานค้นหาคีย์เวิร์ดที่มีความเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการของเรา ก็จะเจอเว็บไซต์เราเป็นอันดับแรก ๆ เพราะทาง Search Engine จะคัดเลือกเว็บไซต์ที่มีคำว่า Ad ขึ้นมาก่อน โดยจะเรียกเก็บเงินตามจำนวนที่มีคนคลิกเข้ามาที่เว็บไซต์

PPC คืออะไร

SEO

เรียกได้ว่าเป็นแนวทางที่ฮิตที่สุดในหมู่คนทำการตลาดออนไลน์เลยทีเดียว เพราะ SEO หรือ Search Engine Optimisation คือเทคนิคที่จะช่วยผลักดันให้เว็บไซต์ของเราให้ขึ้นไปอยู่อันดับต้น ๆ บนหน้าแรกของหน้าผลการค้นหา โดย Google จะกำหนดเกณฑ์มาให้ว่ามีปัจจัยใดบ้างที่อัลกอริทึมจะนำมาใช้พิจารณาในการจัดอันดับ ซึ่งเราต้องปรับแต่งเว็บไซต์ของตนเองให้เข้ากับเกณฑ์เหล่านั้น เพื่อให้ Google มองว่าเว็บไซต์เรามีคุณภาพมากพอสำหรับผู้ใช้งาน และเมื่อเราถูกนำไปจัดอันดับบนหน้าแรกแล้ว สิ่งที่จะตามมาอย่างแน่นอนก็คือจำนวนคนเข้าเว็บไซต์ (Traffic) ที่เพิ่มมากขึ้น เพราะยิ่งเว็บไซต์อยู่อันดับสูงมากเท่าไร ก็จะยิ่งได้รับความไว้วางใจจากผู้ใช้งานมากขึ้นเท่านั้น

ทั้งนี้ การทำ SEO แตกต่างจาก PPC ตรงที่ไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 3-6 เดือน และต้องหมั่นติดตามอัปเดตของ Google Algorithm อยู่เสมอเพื่อปรับแก้คอนเทนต์ให้สอดคล้องกับเกณฑ์ที่ Google ใช้พิจารณา และที่สำคัญเว็บไซต์ของเราจะไม่มีคำว่า Ad ติดอยู่เหมือนกับ PPC ด้วย จึงทำให้ผู้ใช้งานบางคนรู้สึกอยากคลิกมากกว่า

Content Marketing

แน่นอนว่าเมื่อพูดถึงเรื่องการตลาด สิ่งที่เราจะขาดไปไม่ได้เลยก็คือการทำ Content Marketing ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของธุรกิจทุกประเภท เพราะสมัยนี้ ยิ่งหลาย ๆ แบรนด์ผันตัวเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น ก็เท่ากับว่าเรามีคู่แข่งเยอะขึ้น วิธีที่จะสร้างการรับรู้ได้ดีที่สุดก็คือการทำคอนเทนต์เพื่อดึงดูดผู้ใช้งาน โดยก่อนอื่น เราต้องตั้งคำถามก่อนว่ากลุ่มเป้าหมายของเราเป็นใคร และเราอยากจะบอกอะไรแก่พวกเขา แล้วจึงค่อยสร้างสรรค์ออกมาให้อยู่ในรูปแบบที่น่าสนใจและตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มคนเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการเขียนบล็อก การทำอินโฟกราฟิก รูปภาพ หรือวิดีโอ ส่วนจะลงในแพลตฟอร์มไหนนั้น ก็ต้องมีการวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายอีกทีว่า คนที่มีแนวโน้มจะสนใจแบรนด์ของเรามักอยู่ในแพลตฟอร์มใดมากเป็นพิเศษ แล้วเน้นการทำคอนเทนต์ลงแพลตฟอร์มนั้น ๆ ไปเลย

แต่อย่างที่บอกว่าคู่แข่งเรามีเยอะมาก แน่นอนว่าทุกคนก็คงทำคอนเทนต์ไปในแนวเดียวกัน ยิ่งธุรกิจคล้ายกันก็ยิ่งมีโอกาสที่คอนเทนต์จะซ้ำ ดังนั้น การริเริ่มไอเดียใหม่ ๆ จึงจำเป็น เพราะผู้อ่านจะได้รู้สึกไม่จำเจ และให้ความสนใจแบรนด์เราเป็นอันดับหนึ่ง ที่สำคัญ ต้องหมั่นโพสต์อย่างสม่ำเสมอเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายจำนวนมาก ไม่ปล่อยหน้าเว็บไซต์หรือหน้าเพจทิ้งร้าง ไม่เช่นนั้น ลูกค้าที่เข้ามาก็อาจจะมองว่าเราไม่มีความเคลื่อนไหว แล้วไปอุดหนุนแบรนด์คู่แข่งของเราแทนได้

Instagram marketing

Email Marketing

อ่านมาถึงตรงนี้ บางคนอาจคิดว่า “สมัยนี้มีแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียตั้งมากมาย แล้วเรายังจะใช้อีเมลอยู่อีกหรือ” บอกเลยว่าถึงจะดูเป็นวิธีเก่า ๆ ไปสักนิด แต่ประสิทธิภาพไม่ด้อยไปกว่าแพลตฟอร์มอื่นอย่างแน่นอน ! เพราะการทำการตลาดผ่านอีเมล หรือ Email Marketing นั้น เราจะมีข้อมูลของลูกค้าที่เคยอุดหนุนแบรนด์ของเรา หรือแม้แต่ลูกค้าที่เคยมีปฏิสัมพันธ์บางอย่างกับเราอยู่แล้ว ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้เรียกได้ว่าเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มว่าจะซื้อสินค้าหรือบริการของเราสูงมาก ดีกว่าการทำการตลาดแบบหว่านแหโดยที่ไม่รู้เลยว่าคนที่เห็นแบรนด์ของเราแบบผ่านไปผ่านมานั้น เป็นคนที่จะมาเป็นลูกค้าของเราจริง ๆ หรือเปล่า โดยช่องทางนี้เป็นที่นิยมมากในแวดวงธุรกิจแบบ B2B (Business to Business) เพื่อใช้ในการส่งโปรโมชัน ส่วนลด หรือโปรโมตสินค้าคอลเล็กชันใหม่ให้ลูกค้าได้รับรู้ แต่ก็มีข้อควรระวัง คือ ควรส่งเฉพาะข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อลูกค้าจริง ๆ เท่านั้น เพราะอีเมลที่ไม่มีเนื้อหาสาระสำคัญจะทำให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์เป็นไปในเชิงลบ ทั้งยังสร้างความรำคาญแก่ผู้รับ นอกจากนี้ ควรตั้งชื่อหัวเรื่องให้ดูน่าสนใจ น่าเปิดอ่าน โดยแนะนำว่าให้ตั้งเกี่ยวกับสิ่งที่เราอยากจะบอกลูกค้าจริง ๆ จับใจความได้ตั้งแต่กวาดตาอ่านครั้งแรก ไม่เช่นนั้นอาจถูกผู้รับเมินผ่านไปเฉย ๆ ได้

SMS Marketing

อีกช่องทางหนึ่งที่ผู้ประกอบการนิยมใช้กันคือการทำ SMS Marketing เพราะสามารถทำได้บนโทรศัพท์มือถือ อันเป็นอุปกรณ์ที่ทุกคนต้องมี อีกทั้งจำนวนผู้ใช้ยังเพิ่มขึ้นทุกวันอีกด้วย

SMS Marketing นั้นทำได้โดยการส่ง SMS หรือยิงโฆษณาในแอปพลิเคชันของแบรนด์ โดยอาจมีการทำลิงก์แนบไปยังแพลตฟอร์มอื่น ๆ ของแบรนด์ได้ เพื่อให้ลูกค้าเจอคอนเทนต์อื่น ๆ ของเรา และเพื่อเป็นการเพิ่ม Traffic

วิธีทำ sms marketing

สิ่งที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับ Digital Marketing

ด้วยความที่เวลาเราทำการตลาดแบบเดิม อาจจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ นิตยสาร โฆษณาในโทรทัศน์ ฯลฯ เราจะสามารถจับต้องได้ และเห็นว่าเงินที่เสียไปจะได้อะไรกลับมา เช่น เสียเงินสั่งพิมพ์ใบปลิว ก็จะได้ใบปลิวกลับมาเพื่อแจก แต่ในโลกของการตลาดดิจิทัลนั้นมีความแตกต่างกันเล็กน้อย เพราะบางอย่างเราอาจไม่สามารถสัมผัสหรือเข้าถึงได้ ณ เวลานั้นเสียทีเดียว เพราะต้องใช้ระยะเวลาในการวัดผล เรื่องนี้เองจึงทำให้ใครหลายต่อหลายคนมักเข้าใจผิดว่าการทำ Digital Marketing คือการทำแบบไม่ต้องลงทุนเยอะ ไม่มีเงินก็ทำได้ ซึ่งก็คงบอกได้ไม่เต็มปากว่าเป็นความคิดที่ผิด ทว่าก็ไม่ใช่เรื่องที่ถูกเช่นกัน เพราะปัจจุบัน แม้แต่แพลตฟอร์มที่เปิดให้เราใช้ฟรี ๆ อย่าง Google หรือ Facebook เวลาที่เราต้องการจะทำโฆษณาโปรโมตต่าง ๆ ก็ต้องใช้เงินในการซื้อระยะเวลาและพื้นที่สำหรับโฆษณาด้วยกันทั้งนั้น ยิ่งหากเราต้องการทำการตลาดแบบจริงจัง การลงทุนก็แทบไม่ต่างอะไรจากการตลาดแบบออฟไลน์เลยก็ว่าได้

หน้าเพจก่อนเริ่มสร้าง Facebook Ads

สรุป

เมื่อเข้าใจแล้วว่า Digital Marketing คืออะไร วัตถุประสงค์ของมันมีไว้เพื่ออะไรและเราจะใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง สิ่งที่เราต้องทำต่อก็คือการวางกลยุทธ์การตลาดดิจิทัลให้สอดคล้องกับความต้องการของธุรกิจที่เราทำเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ซึ่งผลลัพธ์ที่ว่านั้นก็ต้องเป็นตัวเราเองที่เป็นคนกำหนดว่าความสำเร็จในการทำการตลาดดิจิทัลของเราคืออะไร 

หากถามว่าระหว่างการตลาดดิจิทัลกับการตลาดแบบดั้งเดิมอันไหนดีกว่ากัน ก็ต้องตอบเลยว่า ไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้ เพราะทั้งสองแบบมีกระบวนการทำและเป้าหมายที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับแต่ละธุรกิจว่าเลือกใช้แบบไหนจึงจะเหมาะสม เนื่องจากปัจจุบันนั้น การเลือกทำการตลาดให้ตรงกับรูปแบบธุรกิจ ตรงกับความต้องการยังถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดอยู่ นั่นหมายความว่าธุรกิจของเราอาจจะเหมาะกับการตลาดแบบเดิม หรือเหมาะกับการทำการตลาดทั้งสองแบบควบคู่กันไปก็ได้ แต่ถ้าเกิดต่อไปข้างหน้าการทำ Digital Marketing คือคำตอบสุดท้ายของทุกธุรกิจบนโลก ก็ปล่อยให้เป็นเรื่องของอนาคต แต่สำหรับวันนี้ หากเราอยากให้ธุรกิจของตนเองประสบความสำเร็จก็ควรจะรู้ก่อนว่าสิ่งที่ทำเหมาะกับการตลาดแบบไหน และคำตอบนั้นเราจะได้รู้ก็ต่อเมื่อเรารู้แล้วว่าลูกค้าของเราคือใคร