ทำ SEO ต้องรู้ The 4 Stages of Search การทำงานของ Googlebot

จริงอยู่ที่ว่าใคร ๆ ก็ทำ SEO ได้ แต่ในเมื่อโลกใบนี้มีพื้นที่ในหน้าแรกของผลการค้นหาอยู่ไม่มาก ดังนั้นบรรดาเหล่าธุรกิจและแบรนด์จำนวนนับไม่ถ้วนจึงต้องทำการแข่งขันกันอย่างมากเพื่อให้คอนเทนต์ของตัวเองติดอันดับในแรงก์สูง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการงัดกลยุทธ์ต่าง ๆ นานาออกมาหรือแม้แต่การจ้างผู้เชี่ยวชาญในการทำ SEO ให้มาทำแทน

อย่างไรก็ตาม แม้เรายังคงยืนยันว่าใคร ๆ ก็ทำ SEO ให้ติดแรงก์ได้ ไม่ว่าจะเป็นนักเขียนหรือแบรนด์ที่เพิ่งเริ่มอยากจะก้าวเข้ามาสู่สมรภูมินี้ แต่ก่อนที่คุณจะก้าวไปถึงอันดับ 1 ได้นั้นก็คงจะต้องมีการวางแผน วางกลยุทธ์กันเสียหน่อย ดังนั้นในบทความนี้ เราจะพาคุณมารู้จักกับขั้นตอนการทำงานของ Googlebot ที่พิจารณาว่าเว็บไซต์ไหน บทความไหนควรจะอยู่อันดับที่เท่าไหร่ในแรงก์

Googlebot คืออะไร?

Googlebot หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า “บอต” คือโปรแกรมที่ Search Engine อันดับหนึ่งอย่าง “Google” ใช้ในการเก็บรวบรวมและอ่านข้อมูลของเว็บไซต์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเว็บเพจ ตัวหนังสือ ไฟล์ รูปภาพ วิดีโอ ข้อมูลจากผู้ใช้งาน ฯลฯ เพื่อนำมาวิเคราะห์และประมวลผลออกมาเป็นอันดับต่าง ๆ ที่จะแสดงผลบนหน้าการค้นหา หรือที่หลายคนเรียกกันติดปากว่า “แรงก์” (Ranking)

โดยสถานที่ที่ Googlebot จะเข้าไปเก็บรวบรวมข้อมูลของเว็บไซต์ต่าง ๆ ก็คือในส่วนของ Sitemap ซึ่งจะเข้ามาตรวจสอบในทุก ๆ ครั้งที่มีการอัปโหลดหน้าเว็บหรือเนื้อหาใหม่ลงไป รวมถึงทุกครั้งที่มีการอัปเดต แก้ไขรายละเอียด ข้อมูลต่าง ๆ ด้วย นอกจากนี้ Googlebot ยังมีการจดจำและประมวลผลเปรียบเทียบของข้อมูลเก่าและข้อมูลใหม่ซึ่งจะส่งผลต่ออันดับในหน้าการแสดงผลตลอดเวลา ด้วยสาเหตุนี้ก็ทำให้หลายครั้งที่เว็บไซต์ติดอันดับแล้ว เจ้าของเว็บไซต์นั้นไม่นิยมที่จะทำการแก้ไขกันเพราะอาจจะส่งผลให้ตกจากอันดับเดิมไปได้ เว้นแต่ในกรณีที่จำเป็นต้องมีการอัปเดตที่สำคัญจริง ๆ

ในกรณีที่คุณมีบางส่วนของเว็บไซต์ที่ไม่อยากให้ Googlebot เข้าไปทำการค้นหา คุณก็สามารถตั้งค่าเอาไว้ที่ robots.txt ซึ่งเปรียบเสมือนตัวนำทางว่า Googlebot ควรที่จะอ่านและเก็บข้อมูลส่วนไหนของเว็บไซต์บ้างและส่วนไหนที่คุณไม่อนุญาติให้เข้ามาเก็บข้อมูลนำไปวิเคราะห์

ถ้าหากคุณอยากจะตรวจสอบว่า Googlebot มีการเข้ามาอ่าน เก็บรวบรวมข้อมูลเว็บไซต์ของคุณหรือยัง คุณสามารถพิมพ์ site: แล้วตามด้วย url เว็บไซต์ของคุณในส่วนของ address bar เพื่อทำการตรวจสอบได้ อีกหนึ่งเครื่องมือที่เราอยากจะแนะนำให้คุณมีติดเอาไว้ก็คือ “Google Search Console” เครื่องมือที่จะช่วยให้คุณตรวจสอบคุณภาพเว็บไซต์ของคุณได้ ถ้าหากมีส่วนไหนที่ผิดพลาด คุณก็สามารถทำการแก้ไขได้เพื่อให้เว็บไซต์ของคุณมีโอกาสติดอันดับมากยิ่งขึ้นนั่นเอง

4 stages ของ search seo

The 4 Stages Of Search

ถึงแม้ว่าตอนนี้คุณจะรู้จักและเข้าใจการทำงานของ Googlebot คร่าว ๆ แล้วแต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการทำ SEO เพราะลำดับการทำงานของ Googlebot นั้นมีอยู่ 4 ขั้นตอนหรือที่เรียกว่า “The 4 Stages Of Search ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องรู้และสำคัญต่อการทำ SEO อย่างยิ่ง

Crawling

ขั้นตอนการทำงานแรกของ Googlebot ในส่วนของข้อมูล SEO คือการ Crawling โดย Googlebot จะเข้ามาอ่านข้อมูลต่าง ๆ ในเว็บเพจของคุณ ไม่ว่าจะเป็นข้อความ ไฟล์ต่าง ๆ หรือแม้แต่ลิงก์ที่คุณทำการแนบเอาไว้ ไม่เพียงเท่านี้ Googlebot ยังคงตามไปอ่านข้อมูลของลิงก์ต่าง ๆ ที่คุณแนบเอาไว้ด้วย ดังนั้นเวลาที่คุณเลือกจะแนบลิงก์อะไรใส่เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นลิงก์ที่เชื่อมไปยังหน้าอื่นในเว็บไซต์ของคุณเอง หรือเชื่อมไปยังเว็บไซต์อื่นเลย คุณก็จำเป็นต้องเลือกเว็บไซต์ที่มีคุณภาพเท่านั้น เพราะถ้าหาก Googlebot จับได้ถึงลิงก์ที่ไม่เกี่ยวข้องหรือไม่มีคุณภาพ รวมถึงคุณลักษณะอื่น ๆ ที่เป็นการสแปม Googlebot ก็จะประเมินว่าเว็บไซต์ของคุณไม่มีคุณภาพไปเลยในทันที

Rendering

หลังจากที่ Googlebot ทำการ Crawl เว็บไซต์ของคุณเสร็จแล้วเรียบร้อย ก็จะมาสู่ในขั้นตอนต่อไปที่เรียกว่า Rendering ซึ่งจะเป็นขั้นตอนที่ Googlebot อ่านข้อมูลต่าง ๆ ในเว็บไซต์ของคุณผ่าน Code ทั้ง HTML, JavaScript และ Cascading Stylesheet (CSS) เพื่อประมวลผลว่าหน้าเว็บไซต์ของคุณจะมีหน้าตาออกมายังไงเมื่ออยู่ในมุมมองของผู้ใช้งานจริง ๆ ดังนั้นคุณก็อย่าลืมตั้งค่ารายละเอียดสำคัญต่าง ๆ ของการทำ SEO ไม่ว่าจะเป็นชื่อหัวข้อใหญ่ ชื่อหัวข้อย่อย ตัวหนังสือหนา Alt Text ของรูปภาพ ฯลฯ รวมถึงการออกแบบจัดวางต่าง ๆ ให้ดีด้วย ไม่งั้น Googlebot ก็จะจับความสำคัญเหล่านั้นไม่ได้ และเว็บไซต์ของคุณก็จะดูเหมือนหน้ากระดาษที่มีแต่ตัวอักษรเต็มไปหมด ซึ่ง Googlebot ก็จะเข้าใจว่าเว็บไซต์ของคุณไม่มีความเหมาะสมต่อผู้ใช้งาน (User Friendly) ไม่มีใครอยากอ่าน แม้แต่ Googlebot ยังไม่อยากเลย ซึ่งถ้าผลออกมาเช่นนี้ ก็เผื่อใจในเรื่องการติดอันดับได้เลย

Indexing

ขั้นตอนต่อมาของการทำงานของ Googlebot หลังจากการ Crawl และ Render ก็คือ Indexing ซึ่งเป็นการนำข้อมูลที่ได้มาจากสองขั้นตอนก่อนหน้าทั้งหมดมาวิเคราะห์ว่าเว็บไซต์ของคุณเหมาะสมที่จะถูกจัดเก็บเอาไว้ในฐานข้อมูลของ Google หรือเปล่า ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่ทุกเว็บไซต์ ทุก URL จะถูกพิจารณาว่ามีคุณภาพมากพอ เพราะกระบวนการตรวจสอบและพิจารณานั้นมีความซับซ้อนเป็นอย่างมาก ซึ่งก็รวมถึงบรรดาอัลกอริทึมที่ทาง Google มีการอัปเดตอยู่ตลอดเวลาด้วย นอกจากนี้ในกรณีที่เว็บไซต์ของคุณมีหน้าเพจที่มีข้อมูลเหมือนหรือคล้ายกันมาก ๆ ระบบของ Googlebot ก็จะเลือกเพียงหน้าเดียวที่มีคุณภาพมาจัดเก็บเอาไว้ในฐานข้อมูลเพื่อป้องกันการปั่นอันดับบนหน้าการแสดงผล ด้วยเหตุนี้ในการทำ SEO คุณจึงจำเป็นต้องทำการบ้านมาก่อนอย่างละเอียดถี่ถ้วนและสร้างสรรค์คอนเทนต์ออกมาให้ครบถ้วน เต็มเปี่ยมไปด้วยข้อมูลที่ถูกต้องเพียงครั้งเดียวเท่านั้น เพราะถึงแม้คุณจะทำมาเป็นสิบหน้า แต่โอกาสที่จะได้ติดแรงก์ก็ยังมีอันดับเดียวอยู่ดี แล้วคุณจะทำให้เสียเวลา สิ้นเปลืองงบประมาณและทรัพยากรไปทำไม จริงไหม?

Ranking

ขั้นตอนสุดท้ายในการทำงานของ Google คือ Ranking หรือการจัดอันดับว่าเว็บไซต์ไหนควรที่จะอยู่อันดับที่เท่าไหร่ในหน้าแสดงผลการค้นหา ถึงแม้ว่าในส่วนนี้จะดูเป็นสิ่งสำคัญที่สุดเลยว่าการทำ SEO ของคุณประสบผลสำเร็จไหม แต่ในขั้นตอนนี้กลับเป็นส่วนที่มีความซับซ้อนมากที่สุด ไม่มีใครสามารถทำความเข้าใจได้หนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ และผลการจัดอันดับนั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา รวมถึงผู้ใช้งานที่ใช้ยี่ห้อ รุ่น อุปกรณ์ที่ต่างกัน สถานที่ที่ต่างกัน และอื่น ๆ อีกมากมายยังแสดงผลในส่วนนี้ไม่เหมือนกันอีกด้วย แต่เราก็พอจะสรุปได้ว่า Googlebot ตรวจสอบและพิจารณาจากสามขั้นตอนแรก ซึ่งแน่นอนว่าในส่วนนั้นคุณสามารถสร้างสรรค์เว็บไซต์และการทำ SEO ออกมาให้ตรงตามเกณฑ์ต่าง ๆ ได้เพื่อเพิ่มโอกาสในการติดอันดับ

สรุป

ถึงแม้ว่าการติดอันดับต่าง ๆ นั้นจะดูเป็นผลลัพธ์สูงสุดของการทำ SEO และทาง Google เองก็มีการใช้ Googlebot ในการตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ ไม่ใช่คนจริง ๆ แต่เราก็อยากจะเน้นย้ำให้คุณทราบอีกครั้งว่า ทาง Google ให้ความสำคัญกับเว็บไซต์และข้อมูลต่าง ๆ ว่าต้องเป็น “People First” หรือทำเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ใช้งานจริง ๆ เป็นหลัก ดังนั้นคุณเพียงแค่ทราบถึงขั้นตอนการทำงาน The 4 Stages Of Search เอาไว้เป็นความรู้ แต่แนวทางในการสร้างสรรค์ต่าง ๆ คุณก็ควรที่จะยึด “ผู้ใช้งาน” เป็นหลักสำคัญอยู่ดี