สร้างร้านค้าออนไลน์ WooCommerce หรือ Adobe Commerce ดีกว่ากัน

ในปัจจุบันนั้น การทำ E-Commerce เติบโตและได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ด้วยสถิติพฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์ของผู้บริโภคชาวไทยรายสัปดาห์ที่สูงถึง 68.3% ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในไทยที่มีอายุ 16-64 ปี* ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในโลก! ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเสียเท่าไหร่ หากแบรนด์หรือธุรกิจต่าง ๆ จึงหันมามุ่งเน้นในการทำร้านค้าออนไลน์กันเป็นส่วนใหญ่ 

ถ้าหากคุณกำลังสนใจในการสร้างเว็บไซต์สำหรับทำ E-Commerce แต่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นจากตรงไหนดี บทความนี้จะช่วยหาคำตอบให้คุณเอง!

เลือก WooCommerce หรือ Adobe Commerce ดี?

เครื่องมือการสร้างเว็บไซต์สำหรับ E-Commerce หรือการสร้างร้านค้าออนไลน์นั้นมีอยู่มากมายในปัจจุบัน แต่ในบทความนี้เราขอโฟกัสกับ WooCommerce และ Adobe Commerce (หรือชื่อเดิมคือ Magento) เป็นหลัก เนื่องจากเป็นสองเครื่องมือที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังมีความน่าเชื่อถือสูงอีกด้วย

WooCommerce คือ

WooCommerce

WooCommerce คือปลั๊กอินเสริมใน WordPress ที่จะช่วยคุณสร้างร้านค้าออนไลน์ได้ในเว็บไซต์ของคุณ ซึ่งมีความครบครันเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการสร้างร้านค้าออนไลน์ การสร้าง การเพิ่ม และการแก้ไขสินค้า การจัดการออร์เดอร์  การทำ SEO การปรับแต่ง การทำโฆษณา การวัดและประมวลผล การรองรับการชำระเงินที่ปลอดภัยและมีให้เลือกหลากหลาย ตลอดจนระบบการให้ความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ นอกจากนี้ คุณยังสามารถดาวน์โหลดและติดตั้งปลั๊กอินเสริมได้อีกด้วย

ข้อดี

  1. ใช้งานง่าย

ด้วยความที่ WooCommerce เป็นปลั๊กอินเสริมใน Content Management System (CMS) ชื่อดังอย่าง “WordPress” ทำให้มีรูปแบบการใช้งานที่ง่าย ไม่ซับซ้อน แม้ไม่มีความรู้ในการทำเว็บไซต์ หรือการเขียนโค้ดมาก่อนก็สามารถใช้งานได้

  1. มีฟีเจอร์ครบครัน

WooCommerce เป็นเครื่องมือในการสร้างเว็บไซต์ร้านค้าออนไลน์ที่ครบครัน มีฟีเจอร์การใช้งานที่เหมาะสมและเพียงพอสำหรับการทำร้านค้าออนไลน์สำหรับธุรกิจทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นทั้งการสร้างร้านค้า การบริหารจัดการสินค้า การบริหารจัดการออร์เดอร์ การจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย ฯลฯ

  1. ปรับแต่งได้อย่างอิสระ

ถึงแม้ว่า WooCommerce จะเป็นปลั๊กอินในการสร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปแต่คุณก็สามารถปรับแต่ง ออกแบบการจัดวางหน้าเว็บไซต์ร้านค้าออนไลน์ของคุณได้อย่างอิสระ ทำให้เว็บไซต์ของคุณดูมีเอกลักษณ์ แตกต่างจากเว็บไซต์อื่น ๆ อีกทั้งยังช่วยให้คุณเลือกปรับแต่งเว็บไซต์ให้เหมาะสมกับประเภทสินค้าที่คุณจำหน่ายได้อีกด้วย

  1. ทำ SEO และโฆษณาได้

ร้านค้าออนไลน์ที่สร้างด้วย WooCommerce ไม่เพียงแต่จะนำเสนอสินค้าให้ผู้บริโภคเลือกซื้อเท่านั้น แต่คุณยังสามารถเพิ่มหัวข้อบทความ หรือคอนเทนต์ต่าง ๆ สำหรับการทำ SEO ได้อีกด้วย นอกจากนี้ ระบบของ WooCommerce ยังรองรับการทำโฆษณาที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็น Google Ads, Google Shopping, Facebook Ads, Instagram Ads และอื่น ๆ อีกมากมายให้คุณได้เลือกสรร

  1. สามารถติดตั้งปลั๊กอินเสริมได้ไม่จำกัด

แม้ว่าตัวของ WooCommerce นั้นจะเป็นปลั๊กอินเสริมที่มีฟีเจอร์ต่าง ๆ มากเพียงพออยู่แล้ว แต่ถ้าหากคุณรู้สึกว่าฟีเจอร์ที่มีให้ยังไม่เพียงพอ หรือยังไม่ตอบสนองต่อความต้องการของคุณเท่าที่ควร คุณก็สามารถติดตั้งปลั๊กอินเสริมอื่น ๆ เพื่อเพิ่มฟีเจอร์การใช้งานที่ตอบโจทย์ได้อย่างไม่จำกัด ซึ่งในกรณีนี้คุณสามารถเลือกประยุกต์ใช้งานได้อย่างอิสระตามแต่ความต้องการของคุณ โดยอาจจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมตามแต่ละประเภทของปลั๊กอินเสริมที่คุณเลือก

  1. มีระบบประมวลผลให้

WooCommerce มาพร้อมกับระบบประมวลและวิเคราะห์ผลทางการตลาดต่าง ๆ ให้แก่คุณ ซึ่งมีความละเอียดแม่นยำสูง และยังสามารถทำงานร่วมกับ Google Analytics ได้อีกด้วย ซึ่งช่วยลดความยุ่งยากไปได้เยอะเลยทีเดียว

  1. ใช้งานได้ฟรี

คุณสามารถดาวน์โหลดและเริ่มต้นการใช้งาน WooCommerce ได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ แต่ในการใช้งานปลั๊กอินเสริมหรือฟีเจอร์เพิ่มเติมนั้นก็จะมีค่าใช้จ่าย ซึ่งมีประเภทและงบประมาณให้คุณเลือกสรรตามความเหมาะสมและความต้องการของคุณ โดยมีค่าใช้จ่ายตั้งแต่หลักร้อยบาทไปจนถึงหลักหมื่นบาท (ราว ๆ $15 – $300 ตามแต่ค่าเงินในขณะนั้น)

ข้อเสีย

  1. ฟีเจอร์เสริมต้องติดตั้งปลั๊กอินเสริมได้

อย่างที่เราบอกไปว่า ถ้าหากคุณรู้สึกว่าฟีเจอร์ที่ทาง WooCommerce มีให้มานั้นยังไม่เพียงพอและไม่ตอบสนองตามความต้องการในการสร้างร้านค้าออนไลน์ของคุณ คุณจำเป็นต้องหาปลั๊กอินเสริมมาติดตั้ง ซึ่งในส่วนนี้คุณก็อาจจะต้องทำการหาข้อมูลเพิ่มเติมและอาจจะเพิ่มความยุ่งยากในการจัดการได้เช่นกัน อีกทั้งปลั๊กอินเสริมเหล่านี้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอีกด้วย

  1. ไม่รองรับการทำ Multi Stores และ Languages

ฟีเจอร์การสร้างร้านค้าออนไลน์หลาย ๆ ร้าน รวมถึงการรองรับความหลากหลายของภาษานั้นไม่มีมาให้ในฟีเจอร์ของ WooCommerce ซึ่งคุณจำเป็นต้องติดตั้งปลั๊กอินเสริมหากต้องการเปิดการใช้งานในส่วนนี้

  1. ไม่มีระบบ Advanced Search

WooCommerce ไม่มีฟีเจอร์การตั้งค่าให้ผู้ใช้งานสามารถค้นหาสินค้าแบบละเอียดหรือ Advanced Search ได้ ซึ่งในส่วนนี้ก็อาจจะทำให้ผู้ใช้งานพบเจอความยุ่งยากในการค้นหาสินค้ามากกว่าปรกติได้

Adobe Commerce คือ

Adobe Commerce 

นอกจาก WooCommerce แล้ว ตัวช่วยในการสร้างร้านค้าออนไลน์ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ยังมี “Adobe Commerceหรือชื่อเดิมคือ “Magentoนั่นเอง โดย Adobe Commerce คือ เครื่องมือการสร้างเว็บไซต์สำเร็จรูป (Content Management System หรือ CMS) สำหรับการทำร้านค้าออนไลน์หรือ  E-Commerce โดยเฉพาะ ซึ่งมีฟีเจอร์ในการสร้างเว็บไซต์ร้านค้าออนไลน์ การเพิ่ม การจัดการ การจัดหมวดหมู่ การแก้ไขสินค้า การอัปเดตจำนวนสินค้าในคลัง การสร้างโปรโมชั่น การจัดการและแก้ไขออร์เดอร์ รวมถึงระบบการรองรับการชำระเงินที่ปลอดภัย และอื่น ๆ อีกมากมาย

ข้อดี

  1. การปรับเปลี่ยน Multi Stores และ Languages อัตโนมัติ

Adobe Commerce เรียกได้ว่าเป็น One-Stop-Service ที่แท้จริงสำหรับการสร้างร้านค้าออนไลน์ เพราะคุณสามารถตั้งค่าให้ปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมของผู้ใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นภาษาต่าง ๆ หรือแม้แต่การตั้งค่าหน้าแสดงผลร้านค้าที่แตกต่างกันไป ตามหมวดหมู่แยกย่อยของสินค้าคุณ เช่น หน้าเว็บไซต์สินค้าสำหรับผู้ชายและหน้าเว็บไซต์สินค้าสำหรับผู้หญิงที่แยกออกจากกัน เป็นต้น

  1. การปรับแต่งที่ไม่มีข้อจำกัด

ฟีเจอร์ที่ทำให้ Adobe Commerce โดดเด่นเหนือแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอื่น ๆ ก็คือการรองรับการปรับแต่งที่ไม่มีข้อจำกัด ไม่ว่าจะอยากเนรมิตเว็บไซต์ของคุณให้ออกมาเป็นแบบไหน หรือแม้แต่อยากจะเพิ่มหน้าคอนเทนต์ SEO เข้าไป คุณก็สามารถทำได้ นอกจากนี้ ความพิเศษสุด ๆ ก็คือ การไร้ข้อจำกัดทางกาลเวลา ไม่ว่าในอนาคต คุณจะเปลี่ยนรูปแบบยังไง หรือเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงไปยังไง ระบบก็ยังจะสามารถปรับเปลี่ยนการออกแบบเดิมให้สอดคล้องกับรูปแบบใหม่ได้ โดยคุณไม่ต้องเสียเวลาสร้างเว็บไซต์ใหม่ทั้งหมด 

  1. ขับเคลื่อนด้วย AI

Adobe Commerce มีการนำ Artificial Intelligence (AI)  มาปรับใช้เพื่อส่งเสริมทั้งประสบการณ์การซื้อของผู้บริโภคที่ดีขึ้นและการส่งเสริมยอดขายด้วย ซึ่งระบบ AI นี้จะทำการประมวลผลจากอัลกอริทึมการใช้งานของผู้บริโภค และเลือกแนะนำสินค้าที่ตอบโจทย์ตรงต่อความต้องการของผู้บริโภคคนนั้นมากที่สุด ซึ่งถือว่าเป็นฟีเจอร์ที่โดดเด่นมาก ๆ ในยุคปัจจุบัน

  1. ระบบการวัดผลที่แม่นยำ

Adobe Commerce มีการวัด วิเคราะห์ และประมวลผลการตลาดให้คุณออกมาเป็นข้อมูลที่ละเอียด ไม่ว่าจะเป็นในภาพรวมหรือข้อมูลเชิงลึกก็ตาม เพื่อช่วยให้คุณสามารถปรับเปลี่ยนแผนการตลาด หรือการตั้งค่าต่าง ๆ เพื่อผลลัพธ์ที่ดีกว่าได้ในทันที นอกจากนี้ คุณยังสามารถใช้ข้อมูลตรงนี้ในการรายงานผลประกอบการได้เลย ไม่ต้องนำมาวิเคราะห์หรือคำนวณเองใหม่อีกรอบ ซึ่งถือว่าช่วยประหยัดเวลาไปได้อย่างมาก

  1. รองรับการชำระเงินและตัวเลือกการจัดส่งที่หลากหลาย

ไม่ว่าจะเป็นการชำระเงินในรูปแบบไหน เช่น การเก็บเงินปลายทาง (Cash On Delivery) การชำระผ่านบัตรเครดิต/บัตรเดบิต การโอนผ่านบัญชีธนาคาร การผ่อนชำระ การชำระเงินผ่าน Paypal ฯลฯ คุณก็สามารถตั้งค่าเอาไว้ได้ นอกจากนี้ ระบบของ Adobe Commerce ยังรองรับการจัดส่งที่หลากหลาย ซึ่งระบบสามารถวิเคราะห์ตามข้อมูลที่คุณตั้งค่าเอาไว้ได้ว่าออร์เดอร์นี้ควรใช้การจัดส่งรูปแบบไหนและมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่

ข้อเสีย

  1. ค่าใช้จ่ายสูง

Adobe Commerce นั้นมีความครบครันทางการใช้งานที่สูงมาก ซึ่งแน่นอนว่าก็มาพร้อมกับค่าใช้จ่ายที่สูงมากเช่นกัน โดยราคาแพ็คเกจต่อปีเริ่มต้นที่ราว ๆ 800,000 บาท ( $22,000 ตามแต่ค่าเงินในช่วงเวลานั้น ๆ)

  1. ติดตั้งปลั๊กอินเสริมยาก

Adobe Commerce รองรับการปรับแต่งในขั้นสูงรวมถึงการติดตั้งปลั๊กอินเสริมได้ แต่ในส่วนนี้ถือว่ามีความยุ่งยากมากพอสมควร โดยคุณจะต้องมีความเชี่ยวชาญทางด้านเทคนิคและการเขียนโค้ดสูงถึงจะทำการแก้ไขในส่วนนี้ได้

  1. หน้าเว็บไซต์ประมวลผลช้า

ด้วยความที่ Adobe Commerce มีฟีเจอร์มากมาย รวมถึงคุณสามารถปรับแต่งหน้าร้านค้าได้อย่างอิสระ ทำให้หน้าเว็บไซต์ของคุณอาจจะโหลดและประมวลผลช้ากว่าเว็บไซต์อื่น ๆ ทั่วไปอยู่นิดหน่อย

 

สรุป

ในการสร้างเว็บไซต์ E-Commerce นั้นไม่มีคำตอบตายตัวว่าคุณควรจะเลือก WooCommerce หรือ Adobe Commerce ดี เพียงแต่คุณต้องพิจารณาตามความเหมาะสมจากการใช้งานและงบประมาณที่คุณมี โดยถ้าดูจากภาพรวมนั้น WooCommerce จะตอบโจทย์สำหรับผู้ที่ไม่มีความชำนาญทางด้านเทคนิคที่สูงมากนักและค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงเกินไป ทำให้เหมาะสมสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก-กลางเสียมากกว่า ในขณะที่ Adobe Commerce ก็ดูเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมสำหรับธุรกิจขนาดใหญ่หรือใหญ่มาก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจที่มีฐานการตลาดกระจายอยู่หลายภูมิภาคมากกว่า

 

* ที่มา: รายงาน Digital Stat 2022